มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน และสถาบันมะเร็งกำลังจับตามอง มะเร็งลำไส้และทวารหนัก ซึ่งพบมาเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และ อันดับ 5 ในเพศหญิง
จากข้อมูลของ Thaihealth Watch ร่วมกับสำนักงานระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ พบว่าคนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้จากปี 2552 ถึง 2561 สูงขึ้น 2.4 เท่า จาก 2.8 คนต่อแสนประชากรในปี 2552 เป็น 6.7 คน ในปี 2561 โดยมีความชุกสูงในเขตกทม. (15.1 คนต่อแสนประชากร)
การรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่คนไทยยังกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ตามเกณฑ์ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่แนะนำให้กินผักและผลไม้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผัก) ไม่น้อยกว่าวันละ 7 ส่วน จากการศึกษาพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ในเดือนพฤษภาคม 2562 ได้สำรวจประชากรจำนวน 7,957 คน พบว่าไม่มีกลุ่มใดที่กินผักเพียงพอ โดยกลุ่มที่กินผักและผลไม้น้อยที่สุดคือกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และวัยทำงานตอนต้น
หากพิจารณาปัจจัยทางประชากรศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ พบว่าปัจจัยได้แก่ เพศ สถานะครอบครัว พื้นที่อยู่อาศัย และลักษณะงาน มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมดังกล่าวอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ
เพศชาย – พบการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ มากถึง 1.3 เท่า
สถานะโสด – พบการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ มากถึง 1.4 เท่า
ผู้ที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ – พบการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ มากถึง 1.84 เท่า
พนักงานบริษัท – พบการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ มากถึง 2.52 เท่า
โจทย์ชวนคิด
เราจะสร้างเสริมพฤติกรรมการกินผักผลไม้ให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในกลุ่มพนักงานบริษัท เพศชาย อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15-29 ปี) ที่อาศัยอยู่คนเดียว ในพื้นที่กรุงทพมหานคร ได้อย่างไร
ที่มา:
- การศึกษาพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ปี 2562
- Thaihealth Watch 2563
- https://www.thebangkokinsight.com/20615/