สะกิดพฤติกรรม Healthy Meeting ในออฟฟิศ TPAK

การสะกิดพฤติกรรมลดเนือยนิ่ง ให้พนักงานใช้โต๊ะยืนในห้องประชุม
และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางกาย

นวัตกร

ทีม TPAK

นักวิจัยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้
ด้านกิจกรรมทางกาย
ประเทศไทย

 

กลุ่มเป้าหมาย

พนักงาน TPAK
ผู้ใช้ห้องประชุม

โปรแกรม

Nudge Bootcamp 2022
Innowhale x Thailand Future Foundation
พฤษภาคม 2565 - ตุลาคม 2565

"โต๊ะยืนก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่มีคนใช้ เพราะคนส่วนใหญ่เคยชินกับการนั่ง เราจะมีวิธีอย่างไรในการสะกิดให้คนลุกขึ้นยืน หรือเพิ่มการเคลื่อนไหว ลดเนือยนิ่งระหว่างทำงาน"

 

เกี่ยวกับผลงาน

พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่มีลักษณะการทำงานที่เน้นไปที่การนั่งทำงานอยู่กับที่  ในอิริยาบถเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน การนั่งอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน รวมถึงตำแหน่งการนั่งและโต๊ะทำงานอยู่ในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่นำไปสู่อาการของออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเป็นอาการเกี่ยวข้องกับกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ ที่ทำให้เกิดอาการปวดที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ หลังส่วนบนและล่าง เอว เป็นต้น   การยืนทำงานมีส่วนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน ส่งผลต่อระบบร่างกายได้อย่างไม่ว่าจะเป็นอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง รวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคในกลุ่มโรค non-communicable diseases: NCDs ตามมาได้ การใช้งานโต๊ะยืนทำงาน เป็นอุปกรณ์ที่ดีในที่ช่วยเพิ่มระบบการไหลเวียนเลือดและหัวใจได้ดีขึ้น เพราะร่างกายได้มีการขยับปรับเปลี่ยนท่าทางเวลานั่งที่อยู่กับที่นาน ๆ ลดลง มีงานวิจัยพบว่าการหยุดจากพฤติกรรมเนือยนิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ตัวอย่างเช่น การหยุดพักจากการนั่งเป็นเวลานาน เช่น ทุก ๆ 30 นาที อาจส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ในขณะที่การนั่งนิ่งที่ 60 นาที หรือมากกว่านั้นมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น

ทั้งนี้การยืนทำงาน ไม่ใช่การออกกำลังกายแต่เป็นการขยับร่างกายเพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถ และลดการกดทับของกระดูกสันหลังจากการนั่งนานได้ จึงสามารถช่วยลดอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลังส่วนบนและล่าง เอว นอกจากนี้ยังเป็นการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งของแต่ละช่วงในระหว่างวัน อย่างไรก็ตามการยืนนานเกินไปก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับการทำงานอีกเช่นกัน เพราะการยืนนาน ๆ ก็อาจเสี่ยงต่อข้อเข่า ข้อเท้าให้เจ็บได้เช่นกัน ดังนั้นการยืนสลับการนั่งทำงานจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น และทำให้ร่างกายของเราห่างไกลจากออฟฟิศซินโดรม รวมถึงช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญในระหว่างวันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการลดหรือควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย

ทีม TPAK จึงได้ทำ intervention เป็นการออกแบบการสื่อสารและจัดสภาพแวดล้อมให้กระตุ้น จูงใจ และสร้างการรับรู้เรื่องการยืน ประชุม ลดเนือยนิ่ง เพื่อผลักให้เกิดวัฒนธรรมการยืนประชุม หรือเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างการประชุมที่ใช้เวลานาน โดยได้จัดพื้นที่ สภาพแวดล้อมห้องประชุมใหม่ โดยปรับค่าตั้งต้นของโต๊ะ ไว้เป็นระดับยืน  วางเก้าอี้ไว้มุมห้องเพื่อจำกัดการใช้เก้าอี้  มีพื้นที่ว่างโล่งไว้ให้ยืดเหยียดหรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถ และติดป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปรับระดับโต๊ะ และข้อดีของการยืนประชุม ใช้นาฬิกาแจ้งเตือน / ป้ายขอยืน และจัดวางเบรคให้ห่างออกไปเพื่อให้คนลุกขึ้นและเดินเปลี่ยนอิริยาบถ

 

>>> เรียนรู้เพิ่มเติม <<<

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก innowhale

1. การนำหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาปรับใช้ในโจทย์ของ TPAK ส่งเสริมให้คนมีกิจกรรมทางกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง

2. การทำงานเป็นทีมและวิธีบริหารจัดการโครงการ

3. เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้และทดลองลงมือทำ ได้ทำงานกับนวัตกรอาสา
ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย

ผลลัพธ์และผลกระทบที่คาดหวัง

ทีมหวังว่าโครงการนี้จะสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาในการนำหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้ในการส่งเสริมพฤติกรรมลดการเนือยนิ่ง และสนับสนุนให้เกิด Healthy Meeting ในบริบทสำนักงานได้  อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการติดตามผลต่อเนื่องระยะยาว เพื่อสรุปผลและประเมินความเป็นไปได้ในการออกแบบมาตรการที่ช่วยให้พนักงานเพิ่มชั่วโมง active ระหว่างทำงานที่จะส่งผลต่อการดูแลสุขภาพต่อไป

เริ่มต้นสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในประเด็นผลกระทบสูง
หรือร่วมพัฒนานวัตกรสังคมกับ innowhale