เลี้ยวเป็นเส้นตรง – สะกิดพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุทางกลับรถ

'สะกิด' พฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุบริเวณจุดกลับรถในเขตชุมชน ด้วยการเข้าถึง เข้าใจ และเสริมแรง

นวัตกร

ทีม มหาวิทยาลัยสยาม

จิรศักดิ์ เหมหิรัญ
ธีรวุฒิ โสวรรณ์
ศุภกร บุตรพรมมา

กลุ่มเป้าหมาย

นักศึกษาและคณาจารย์
มหาวิทยาลัยสยาม
ผู้อาศัยในซอยเพชรเกษม 38
และซอยเพชรเกษม 40

 

โปรแกรม

Nudge Bootcamp - Road Safety
1 เมษายน - 31 พฤษภาคม 2564

" ทางกลับรถในการเข้ามหาวิทยาลัยสยามเกิดอุบัติเหตุทุกสัปดาห์ เพราะเป็นจุดที่มีทางเส้นตรงเป็นเนินลงมาจากสะพานจึงทำให้คนขับรถมาเร็วมากขึ้น และผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์มักจะไม่มองรถที่พุ่งลงมาจึงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง "

เกี่ยวกับผลงาน

ทีมมหาวิทยาลัยสยามเห็นปัญหาตรงจุดกลับรถหน้ามหาวิทยาลัยที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่จะเกิดอุบัติเหตุจากผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ในละแวกซอยเพชรเกษม 38 และ 40 รวมไปถึงนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสยามเอง ซึ่งจุดกลับรถดังกล่าวเป็นจุดที่มีทางเส้นตรงเป็นเนินลงมาจากสะพานจึงทำให้คนขับรถมาเร็วมากขึ้น และผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์มักจะไม่มองรถที่พุ่งลงมาจึงเกิดอุบัติเหตุอยู่เป็นประจำ และในจุดกลับรถนั้นไม่มีกล้องวงจรปิดเพื่อสังเกตการณ์ในเรื่องพฤติกรรมการกลับรถหรือการเกิดอุบัติเหตุเลย

ทีมต้องการสะกิดพฤติกรรมในการกลับรถของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์เพื่อลดอุบัติเหตุให้ได้ 50% โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มคือ นักศึกษา อาจารย์ ของมหาวิทยาลัยสยาม และคนในชุมชนซอยเพชรเกษม 38 และ 40 รวมไปถึงการขอติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณจุดกลับรถเชื่อมกับสโมสรนักศึกษา เพื่อให้สามารถเห็นภาพเหตุการณ์ต่างๆ ได้ ทีมเริ่มต้นด้วยการเข้าไปทำกิจกรรมเพื่ออบรม ทำความเข้าใจ และเชิญชวนให้กลุ่มเป้าหมายทำแบบประเมินเพื่อสร้างความตระหนัก และสะกิดพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัยให้แก่นักศึกษาและอาจารย์ผู้ใช้รถใช้ถนน และได้ลงชุมชนในพื้นที่เพชรเกษม 38 เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ด้วยการออกแบบข้าวกล่องที่มี QR Code ข้อมูลจราจรและสถานการณ์อุบัติเหตุในพื้นที่  เพื่อเผยแพร่และรณรงค์การขับขี่ปลอดภัย สะกิดพฤติกรรมในการกลับรถจุดดังกล่าวเพื่อลดอุบัติเหตุ  ซึ่งได้รับความสนใจและความร่วมมือที่ดีจากชาวบ้านในพื้นที่

>>> เรียนรู้เพิ่มเติม <<<

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก innowhale

1. ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเขียนแผนโครงการในรูปแบบใหม่ ที่เป็นการเริ่มต้นจากสิ่งที่ต้องการในการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ

2. สามารถนำความรู้จากการอบรมมาปรับแผนหรือกลยุทธ์ในการทำโครงการ และนำมาประยุกต์ใช้ต่อไปในอนาคตได้

3. ได้วิธีการปรับแผนดำเนินงานให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ผลลัพธ์และผลกระทบที่คาดหวัง

ทีมมหาวิทยาลัยมุ่งหวังให้การเกิดอุบัติเหตุลดลง 50% ซึ่งจากการทำแบบประเมินในเรื่องการกลับรถในจุดดังกล่าว รวมถึงการตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบว่าไม่มีอุบัติเกิดขึ้นหรือมีคนเสียชีวิตเลยตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ของการทดสอบ และปริมาณในการกลับรถในจุดกลับรถดังกล่าวก็ลดน้อยลง 50% สาเหตุจากมหาวิทยาลัยสยามปิดทำการ และการสะกิดพฤติกรรมคนในชุมชนได้ผล ซึ่งในอนาคตทีมหวังจะขยายผลเพื่อแก้ไขปัญหาการกลับรถของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม เพื่อให้เปลี่ยนจุดกลับรถไปกลับข้างหน้าแทนจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ หน้ามหาวิทยาลัย

เริ่มต้นสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในประเด็นผลกระทบสูง
หรือร่วมพัฒนานวัตกรสังคมกับ innowhale