โครงการวิจัยเชิงทดลอง เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่สะพานข้ามแยกคลองตันด้วยการโน้มน้าวพฤติกรรม (Nudge)

'สะกิด' พฤติกรรมขับขี่ปลอดภัยในกลุ่มเป้าหมายผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บริเวณสะพานข้ามแยกคลองตัน

นวัตกร

ทีม Redesign a Safer Khlong - Tan Flyover

พนิตตา โอกาศเจริญ
ภานุวัฒน์ ฤทธิ์พรณรงค์
อภิวรรณ ดวงภุมเมศ
บุญญเกียรติ์ ศรีโพธิ์งาม
กิตตินันท์ อนุพันธ์

กลุ่มเป้าหมาย

ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์
ที่ใช้งานสะพาน
ข้ามแยกคลองตัน

 

โปรแกรม

Nudge Bootcamp - Road Safety
1 เมษายน - 31 พฤษภาคม 2564

" แม้จะมีกฎหมายข้ามรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานข้ามแยก แต่ตรงสะพานข้ามแยกคลองตันกลับมีผู้ขับขี่ขับมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานวันละประมาณ 1,500 คัน ซึ่งบนสะพานมีโค้งรูปตัว S ที่ถ้าขับขี่เร็วมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ "

เกี่ยวกับผลงาน

จากสถิติพบว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็น 1 ใน 5 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยที่สะพานข้ามแยกคลองตันเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้จะมีกฎหมายห้ามรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานแล้ว ก็ยังมีผู้ขับขี่ที่ไม่ทำตามกฎหมายเป็นหลักพันต่อวัน ทีม Redesign a Safer Khlong - Tan Flyover จึงต้องการจะแก้ไขปัญหานี้และเริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย พบว่าผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์มีรูปแบบพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอยู่สองแบบ คือ พฤติกรรมการตัดสินใจขึ้นหรือไม่ขึ้นสะพาน กับพฤติกรรมขับขึ้นสะพาน ซึ่งบนสะพานมีโค้งรูปตัว S ซึ่งถ้าบวกกับการขับเร็ว ถ้าเกิดอุบัติเหตุถึงจะใส่หมวกกันน็อคก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้

จากการลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลและบริบทรวมทั้งทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ทีมจึงตัดสินใจสะกิดพฤติกรรมการขับขี่มอเตอร์ไซค์ของกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในจุดตัดสินใจว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้นสะพานข้ามแยกคลองตัน โดยแบ่งการทดลองออกเป็นสามช่วงคือ ช่วงแรก เป็นการเก็บข้อมูลด้วยการนับข้อมูลอ้างอิง ช่วงที่สอง เริ่มติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อนับข้อมูล และช่วงที่สาม เป็นช่วงที่ทีมจะเพิ่มป้ายเข้ามาเพื่อสะกิดพฤติกรรมให้ผู้ขับขี่ตัดสินใจจะไม่ขับมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานข้ามแยกคลองตัน ซึ่งในตอนนี้ทีมยังอยู่ในการทดลองให้ครบทั้ง 3 ช่วงและเก็บข้อมูลเพื่อวัดผลอย่างเป็นทางการ เพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์หาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ที่จะสามารถนำไปใช้และขยายผลเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุต่อไป

>>> เรียนรู้เพิ่มเติม <<<

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก innowhale

1. ได้รับไอเดียมุมมองจากการประสานความร่วมมือจากทีมงานและที่ปรึกษาที่มีทักษะหลากหลายและมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาสังคม จนทำให้สามารถแบ่งงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีแรงขับเคลื่อนให้สามารถข้ามผ่านอุปสรรคได้

2. สามารถออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์และใช้งานได้จริง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการในหลากหลายรูปแบบ

ผลลัพธ์และผลกระทบที่คาดหวัง

เมื่อมีการติดตั้งกล้องและป้ายเตือนจากการออกแบบภายใต้กรอบแนวคิดเชิงพฤติกรรม ครบเรียบร้อยแล้ว จะส่งผลให้จำนวนผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ตัดสินใจขับขึ้นสะพานข้ามแยกคลองตันมีจำนวนลดน้อยลงและตัดสินใจเลือกช่องทางสัญจรที่ปลอดภัยกว่า และทีมมีความตั้งใจจะถอดบทเรียนจากการทดลองดังกล่าว เป็นลักษณะเป็นขั้นตอนที่เข้าใจง่าย เพื่อให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่กำลังแก้ไขปัญหาในลักษณะใกล้เคียงกันสามารถประยุกต์ใช้ในพื้นที่เพื่อลดอุบัติเหตุและส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน

เริ่มต้นสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในประเด็นผลกระทบสูง
หรือร่วมพัฒนานวัตกรสังคมกับ innowhale