'สะกิด' พฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย ไม่ขับรถย้อนศร ด้วยเทคนิคการสื่อสารที่เข้าถึงวิธีคิดและความเชื่อของคนในชุมชน
นวัตกร
ทีม ร้อยเอ็ดเฮ็ดดี
สุภาภรณ์ ทัศนพงศ์
สันติ ธรณี
ภาวรรณ์ ภักดีวุฒิ
กลุ่มเป้าหมาย
ผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์
ในพื้นนที่บ้านเมืองไพร
จังหวัดร้อยเอ็ด
โปรแกรม
Nudge Bootcamp - Road Safety
1 เมษายน - 31 พฤษภาคม 2564
" 'ขับมาทุกวันก็ไม่เห็นเป็นไร' พฤติกรรมเคยชินและการขับขี่ย้อนศรบริเวณแยกบ้านเมืองไพร ทำให้ในชาวบ้านในชุมชนบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนบ่อยครั้ง "
เกี่ยวกับผลงาน
การขยายถนนสาย 23 ช่วงอําเภอเสลภูมิถึงจังหวัดยโสธรจากถนน 2 เลนเป็นถนน 4 เลน ตรงช่วงแยกบ้านเมืองไพร ตําบลเมืองไพร อําเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ทําให้ผู้สัญจรที่เป็นคนในพื้นที่ไม่คุ้นเคยกับถนนที่มีความกว้างขึ้นและมีจุดกลับรถที่แขวงทางหลวงกําหนด ชาวบ้านที่ต้องใช้ถนนสายนี้สัญจรเข้าหมู่บ้านทั้งสองฝั่งจึงมักจะเลี้ยวรถย้อนศรบริเวณจุดกลับรถใกล้ทางแยกเข้าหมู่บ้าน รวมทั้งเกิด 'จุดลักข้าม' ที่มีความอันตราย ซึ่งหลังจากเปิดใช้ถนนเส้นดังกล่าวนี้เพียงแค่ 3 เดือน มีอุบัติเหตุเสียชีวิตแล้ว 1 ราย บาดเจ็บรุนแรง 2 ราย
ทีม ร้อยเอ็ดเฮ็ดดี ที่สมาชิกทำงานด้านสาธารณสุขจังหวัดและสาธารณสุขอำเภอ จึงตั้งใจจะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการสะกิดพฤติกรรมผู้ขับขี่ย้อนศรด้วยชุดป้ายเตือน 'อ๊ะ อ๊ะ อย่าขับย้อนศร' ที่มีลักษณะเหมือนป้ายประชาสัมพันธ์งานปิดทองฝังลูกนิมิตรตามริมถนน ทีมนำรูปเด็กมาใช้บนแผ่นป้ายเพื่อโน้มน้าวพฤติกรรมผู้ขับขี่ที่อาจมีเด็กอยู่ในครอบครัวให้นึกถึงลูกหลานของตนจนเปลี่ยนพฤติกรรม และผลิตสติกเกอร์ 'ลูกหลานปู่ตา ฟ้าระงุ้ม ไม่ขับรถย้อนศร' แจกให้กับผู้คนที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ เป็นการสะกิดชาวบ้านด้วยความเชื่อและการเคารพศรัทธาที่ผู้ใช้ถนนบ้านเมืองไพรมีต่อปู่ตา เพื่อลดพฤติกรรมการขับรถย้อนศรให้ลดน้อยลง
>>> เรียนรู้เพิ่มเติม <<<
สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก innowhale
1. ได้รับมุมมองและแนวคิดในการหาวิธีแก้ไขปัญหาที่คิดไม่ถึงมาก่อน จากผู้คนที่หลากหลายในโครงการ
2. ได้รับแรงสนับสนุนและการความช่วยเหลือที่ดีจากนวัตกรในทีม จนสามารถสร้างผลงานที่สะกิดความรู้สึกกลุ่มเป้าหมายได้
3. ได้รับแรงกระตุ้นในทางบวกจากทางโครงการจนสามารถผลิตผลงานออกมาได้สำเร็จ

ผลลัพธ์และผลกระทบที่คาดหวัง
หลังจากมีการติดตั้งป้ายและแจกสติกเกอร์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ พบว่ามีพฤติกรรมการขับรถมอเตอร์ไซค์ย้อนศรลดน้อยลงประมาณ 30% ทีมจึงตั้งใจจะขยายโครงการด้วยการของบประมาณในการเพิ่มระยะเวลาการสุ่มนับจำนวนรถที่ขับรถย้อนศร เป็นการสังเกตพฤติกรรมเพิ่มเติมที่อาจสร้างพฤติกรรมในการไม่ขับรถย้อนศรจนเคยชินให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้ และขยายผลจากโครงการทดลองด้วยการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ป้ายริมทางให้สะดุดตาและแข็งแรงทนทานมากขึ้น เพื่อยืดอายุการใช้งานของตัวป้ายต่อไปในระยะยาว