อัตราการใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่นสูงขึ้น แต่การใช้อย่างสม่ำเสมอยังคงต่ำ ส่งผลต่อการระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
องค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานการเฝ้าระวังการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต้องไม่เกิน 10 ต่อประชากร 1000 คน ซึ่งถ้าดูตัวเลขของประเทศไทยพบว่า การคลอดที่เกิดจากผู้หญิงอายุน้อยกว่า 20 ปีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2533
ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ.2560-2569 ตาม พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 วางเป้าหมายว่าในปี 2569 อัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 15-19 ปีลดลง ไม่เกิน 25 ต่อประชากรหญิง 15-19 ปี 1000 คน
อัตราการคลอดจากแม่วัยรุ่นลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2555 ตัวเลขอยู่ที่ 53.4 ต่อ 1000 ประชากรแม่วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี และจากปี 2556-2560 ตัวเลขนี้ลดลงมาเหลือ 51.2 47.9 44.8 39.02 ต่อ 1000
การสำรวจในปี 2563 พบว่า กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยต่ำลง เพียง 45% ทำให้เกิดแนวโน้มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำคัญเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ตั้งแต่ปี 2558 มากที่สุดคือหนองใน ติดเพิ่มขึ้น 69.7% ซิฟิลิสในวัยรุ่น 124 คนต่อแสนประชากร หรือ 14 คนต่อวัน อีกทั้งยังทำให้มีการคลอดที่เกิดจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 190 คนต่อวัน ไม่รวมการทำแท้ง
จากการสำรวจการใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่น ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราการใช้ถุงยางอนามัยจะสูงขึ้น แต่การใช้อย่างสม่ำเสมอยังคงต่ำ ส่งผลต่อการระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายโรค
การตีตราทางเพศ หมายถึง การบั่นทอนคุณค่าของกลุ่มบุคคลที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางเพศ (sexual minorities) ผ่านการมีทัศนคติในแง่ลบและมองว่ามีสถานะต่ำกว่า อันเนื่องมาจากพฤติกรรม อัตลักษณ์ รูปแบบความสัมพันธ์ และชุมชนที่ไม่สอดคล้อง กับขนบของกลุ่มคนรักต่างเพศ กลุ่มประชากรที่เป็นคนกลุ่มน้อยทางเพศสภาพและเพศวิถีนั้นจึงต้องประสบกับการถูกตีตราและถูกเลือกปฏิบัติในหลากหลายรูปแบบ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้คนกลุ่มน้อยทางเพศประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตมากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มคนรักต่างเพศ
เรื่องเพศ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเนื้อตัวร่างกาย แต่ยังหมายถึงความรับผิดชอบ การดูแลสุขภาพร่างกาย การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน การเคารพสิทธิกันและกัน และความเท่าเทียม เพราะสังคมนั้นมีความหลากหลายทางเพศมากกว่าแค่หญิงหรือชาย
ผู้ที่มีสุขภาพทางเพศที่ดีก็จะปฏิบัติต่อคนที่มีวิถีทางเพศแตกต่างจากตัวเองด้วยความเคารพ ไม่ว่าจะเป็นสาวประเภทสอง หญิงรักหญิง ชายรักชาย หรือผู้ที่รักสองเพศ และยังปฏิบัติกับเพื่อนคู่รักหรือชาย ที่สำคัญคือ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและตนเอง ในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
" เรื่องเพศไม่ใช่แค่เรื่องของเนื้อตัวร่างกาย แต่ยังหมายถึงความรับผิดชอบ การดูแลสุขภาพร่างกาย การเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และความเท่าเทียม"
โจทย์สำคัญ
1. การเพิ่มการใช้ถุงยางอนามัยในการช่วยป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
2. ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
3. สร้างทักษะของเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยร่วมไปกับความรับผิดชอบ
4. การเข้าถึงข้อมูลและบริการสุขภาพ
