ในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 2,510 ราย โดยกว่าร้อยละ 80 เกิดจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ปี 2561 เผยว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก และอันดับที่ 1 ของเอเชีย และมีอัตราการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์เป็นอันดับ 3 ของโลก คิดเป็น 74.4% ของการเสียชีวิตทั้งหมด เป็นจำนวนเฉลี่ย 60 คน/วัน กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตทางถนน คือกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มผู้ใช้จักรยานยนต์ กลุ่มผู้ชาย และกลุ่มแรงงาน โดยกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดในอุบัติเหตุบนท้องถนนคือกลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดมาจากพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลแล้วขับขี่ การขับขี่โดยใช้ความเร็วเกินกฏหมายกำหนด การขับขี่ตัดหน้าหรือเบรคกระชั้นชิด และการไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกกันน็อค เข็มขัดนิรภัย
การเพิ่มจำนวนการตรวจจับความเร็วยังไม่ส่งผลให้อุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วเกินมาตรฐานที่กำหนดลดลง โดยพบว่า 62% เปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่เมื่อถูกตรวจจับความเร็วเพียงช่วงเวลาหนึ่ง และ ผู้ขับขี่กว่า 20% ไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใดๆ ถึงแม้มีการตรวจจับความเร็ว
การคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารที่นั่งเบาะหลัง ดูเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่คุ้นชินโดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทย การสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ปี 2560 พบว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารบนรถแท๊กซี่มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น โดย 43% เพื่อให้นั่งสบาย และ 22% ตำรวจไม่จับ
การสำรวจการใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ปี 2561 พบว่า 60% ของผู้ขับขี่รถยนต์ และ 38% ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ยอมรับว่าเคยใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ โดย 80% ใช้พูดคุยสนทนา 25% ใช้ mobile app 20% ใช้ฟังเพลง โดยมากกว่า 80% รายงานว่าไม่เคยเห็นการจับกุมผู้กระทำผิด
ปี 2564 ประเทศไทยมีอุบัติเหตุสะสมทั่วประเทศรวม 897,126 ครั้ง โดยเกิดกับกลุ่มอายุ 36 - 60 ปี คิดเป็น 26.8% รองลงมาคือกลุ่มอายุ 1 - 14 ปี คิดเป็น 24.7%
จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (11-17 เมษายน 2565) สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับ รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด
อัตราการสวมหมวกนิรภัยทั่วประเทศ ปี 2561 จำแนกตามตำแหน่งที่นั่งพบว่า มีเพียง 45% ของผู้ขับขี่และผู้โดยสารรวมกันที่สวมหมวกนริภัยขณะขับขี่และโดยสาร 52% ของผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัย และมีเพียงผู้โดยสาร 22% เท่านั้นที่สวมหมวกนิรภัยขณะโดยสารรถจักรยานยนต์
" เยาวชนวัย 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตสูงสุด เฉลี่ยถึงปีละ 1,688 ราย มาจากการขับขี่เพื่อเดินทางไปโรงเรียนหรือในชีวิตประจำวัน"
โจทย์สำคัญ
1. การป้องกันและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต ได้แก่ การดื่มแล้วขับ การใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด การขับรถกระชั้นชิด และการไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน
2. การให้ความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์
