โจทย์นวัตกรรม – เพิ่มกิจกรรมทางกาย และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง

พฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักด้านสุขภาพที่นำไปสู่การเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอเป็นหนึ่งใน 5 ปัจจัยเสี่ยงหลักด้านสุขภาพที่นำไปสู่การเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases: NCDs) ได้แก่โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และภาวะทางสุขภาพจิต ร่วมกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และอาหารที่ไม่เหมาะสมตามหลักโภชนาการ และการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ 

พฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Behavior) หมายถึงพฤติกรรมขณะตื่น ที่มีการใช้พลังงาน < 1.5 METs มักเกิดขึ้นระหว่างการนั่ง หรือเอนนอน พฤติกรรมเนือยนิ่งติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมง ถึงว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เมื่อสะสมทั้งวันแล้วไม่ควรเกินกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน (MET ย่อมาจาก Metabolic Equivalent เป็นหน่วยบอกจำนวนเท่าของการใช้พลังงานในกิจกรรมใดๆ เทียบกับขณะนั่งพัก ซึ่งเท่ากับ 1 MET ยกตัวอย่างเช่น การเดินขึ้นบันไดจะใช้พลังงาน 8 เท่าของขณะพักหรือ 8 METs)

กิจกรรมทางกาย (Physical Activity) เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบทต่างๆ ที่ครอบคลุมกิจกรรมใน 3 ด้าน ดังนี้

  1. กิจกรรมทางกายในการทำงาน (Work-related Activity) ที่ครอบคลุมถึงการทำงานต่างๆ ทั้งที่ได้รับหรือไม่ได้รับค่าจ้าง เช่น การศึกษา/ฝึกอบรม การทำความสะอาดบริเวณโรงเรียนหรือห้องเรียน การทำงานบ้าน/กิจกรรมในครัวเรือน การทำงานเกษตรกรรม เป็นต้น
  2. กิจกรรมทางกายในการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง (Transportation, or Travel from Place to Place) ด้วยการเดินหรือปั่นจักรยานเพื่อการสัญจร เช่น การเดินทางไปโรงเรียน การเดินทางเพื่อไปจับจ่ายใช้สอย/ซื้อเครื่องใช้ต่างๆ ไปตลาด ไปทำบุญ หรือ ไปศาสนสถาน เป็นต้น
  3. กิจกรรมทางกายเพื่อนันทนาการ หรือกิจกรรมยามว่าง (Leisure time, or Recreational Activity) เช่น การออกกำลังกาย และเล่นกีฬาประเภทต่างๆ การเต้นรำ กิจกรรมนันทนาการที่ปฏิบัติในเวลาว่าง เป็นต้น

กิจกรรมทางกายที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ 

  • กิจกรรมที่มีระดับหนักปานกลาง คือ กิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหว ออกแรง มีเหงื่อซึม อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นจากปกติเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับหอบ  สามารถพูดเป็นประโยคได้
  • กิจกรรมที่มีระดับหนัก คือ กิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว ออกแรง และใช้พละกำลังของร่างกายอย่างหนัก ส่งผลให้มีการหายใจแรง และอัตราการเต้นของหัวใจเต้นเร็วขึ้นอย่างมาก ทำให้รู้สึกเหนื่อยหอบหรือไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้

วัยเด็กและวัยรุ่น (5-17 ปี)  ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง-หนัก อย่างน้อย 60 นาที/วัน และมีกิจกรรมทางกายที่พัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์  ระดับปานกลาง หมายถึงการเคลื่อนไหวออกแรงที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มีความหนักและเหนื่อยในระดับเดียวกับการเดินเร็ว ขี่จักรยาน ทำงานบ้าน มีชีพจรเต้นระหว่าง 120-150 ครั้ง/นาที  ระหว่างที่เล่นยังสามารถพูดเป็นประโยคได้ มีเหงื่อซืม ๆ   ระดับหนัก หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายที่มีการทำซ้ำและต่อเนื่อง โดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่นการวิ่ง การเดินขึ้นบันได มีระดับชีพจร 150 ครั้งขึ้นไปต่อนาที จนทำให้หอบเหนื่อย พูดเป็นประโยคไม่ได้  (WHO)

ในช่วงปี 2561-2563 เด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเกิน 14 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่พบความแตกต่างมากนักระหว่างชายและหญิง ในช่วงการ Learn from Home มีเด็กและเยาวชนถึง 11.16% มีกิจกรรมทางกายมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการเล่นและการออกกำลังกายจากที่บ้าน การออกกำลังกายออนไลน์ 

เด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน "

โจทย์สำคัญ

1. ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง

2. เพิ่มกิจกรรมทางกายให้เพียงพอ เหมาะสมตามช่วงวัย

3. ส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายในทุกโอกาส

4. การพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย

 

มาร่วมออกแบบและพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพกับ สสส.
ในโครงการ  Health Promotion Innovation - PM Award 2022