บทสัมภาษณ์คุณตุ้ย (เมนูต้องห้าม)

ประสบการณ์ที่เจอทำให้มี passion เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต

ในประเด็นสุดท้ายของโครงการ ‘Innowhale Social Ideation Day’ คือประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพจิตเด็กและความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รางวัลจากโครงการไปมากที่สุดคือ 4 ไอเดีย และไอเดีย ‘เมนูต้องห้าม’ ของคุณตุ้ย ก็เป็นหนึ่งในไอเดียที่ได้รับรางวัลไป

“เราสนใจเรื่องสุขภาพจิตค่ะ คือมันเพิ่งมาชัดเจนกับเราตอนเมื่อสองปีที่ผ่านมา เริ่มมาจากตอนที่เราหมดไฟ  (burn out) ในการทำงานตอนปี 2019 เป็นครั้งแแรกที่เรารู้สึกว่าไม่ไหวเลย ไม่เคยรู้สึกว่าสภาพจิตใจย่ำแย่ขนาดนี้ ก็เลยหาช่องทางรักษาด้วยการไปพบนักบำบัดและพบจิตแพทย์อะค่ะ แต่ก่อนเราไม่เคยคิดว่าเราจะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือเป็นจริงเป็นจังเลย พอเราไม่สบายใจก็ไปหาอย่างอื่นทำให้มันลืม ๆ แต่สองปีที่แล้วพอเราได้ไปหานักจิตบำบัด การได้พูดคุยกับเขามันทำให้เราเข้าใจตัวเองเยอะขึ้นมาก ๆ ทั้งในเรื่องอารมณ์หรือว่าการตอบสนองที่เรามีต่ออารมณ์นั้น ๆ มันทำให้เราสนใจประเด็นนี้ จริง ๆ ก่อนหน้านี้เราก็มีความสนใจแหละ แต่เราจับมันไม่ถูกว่ามันมาจากอะไร”

“นอกจากนั้นเราก็มีโอกาสได้ทำโปรเจคที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตอีกประมาณสองโปรเจค มันทำให้เราได้หาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตในบ้านเรามันเกิดจากอะไร และเราก็อยากจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นภายในของตัวเองด้วย อยากจะรู้ว่าเราจะไปต่อยังไงกับชีวิต มันก็เลยทำให้เรื่องสุขภาพจิตเหมือนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกนี้ที่เรารู้สึกว่าเรามี passion กับมัน”

.

ช่องว่างที่มองไม่เห็นของความสัมพันธ์ในครอบครัว

“เราพยายามเอาประสบการณ์ที่เราเจอเองหรือได้พูดคุยกับเพื่อน เราคิดว่ามันมีช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ของเด็กและผู้ปกครองที่มันไม่มีใครมาเติม หรือว่าไม่มีใครเริ่มก่อน มันเป็นช่องว่างที่เป็นความกลัว เด็กไม่กล้าพูดเรื่องนี้เพราะเขารู้สึกว่าเขาจะถูกตัดสินจากคอมเมนต์ที่พ่อแม่มีกับประเด็นเหล่านี้ เวลาที่เขาดูข่าวที่เป็นประเด็นแล้วพ่อแม่พูดเรื่องนี้ มันทำให้เขารู้สึกว่า เฮ้ย ถ้าเกิดตัวเขาเป็นแบบนี้ล่ะ ถ้าเกิดเขาอยากลองเริ่มมี หรือถ้าตัวเขาเคยทำสิ่งนี้มาแล้วล่ะ พ่อแม่จะคิดกับเขายังไง คือมันทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาไม่กล้าที่จะพูดคุยเรื่องนี้กับพ่อแม่หรือว่าให้พ่อแม่รู้จักตัวตนด้านอื่น ๆ ของเขา ซึ่งจริง ๆ มันเป็นธรรมชาติมากในตัวมนุษย์ ที่เรามีความอยากจะสนใจใคร่รู้ แต่พ่อแม่มักจะทำให้เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องบาป ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องของคนไม่รักดี ที่มันมาพร้อมการแปะป้ายที่จะมาตัดสินเรา”

“แต่มันก็มีพ่อแม่อีกประเภทนึงเหมือนกันที่คิดว่ามันก็น่าจะพูดคุยกันได้ แต่ตัวเขาเองไม่รู้จะอธิบายกับลูก หรือเอาเรื่องพวกเนี้ยที่ลูกอยากรู้ มาเริ่มคุยกับลูกยังไง ซึ่งกลุ่มนี้แหละเป็นกลุ่มที่เราคิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของเราในไอเดียนี้ คือกลุ่มพ่อแม่ที่เขารักและอยากจะสนิทกับลูกมากขึ้น แต่เขาไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง หรือในทางกลับกันเราคิดว่า ลูก ๆ ก็อยากจะสนิทกับพ่อแม่มากขึ้นแต่ว่าเขาก็ไม่รู้จะเริ่มยังไงก็ได้เหมือนกัน”

.

ตัวช่วยที่มาในรูปแบบเมนูพิเศษจากทางร้าน

“เรานึกถึงเครื่องมือแบบการ์ดเกม พวกเครื่องมือที่เป็นตัวช่วยในการพูดคุยต่าง ๆ แต่ถ้าปกติไม่ค่อยได้คุยกัน อยู่ดี ๆ จะมาชวนเล่นเกมมันก็เคอะเขิน เราก็เลยคิดว่าเวลาไหนที่ครอบครัวที่ไม่ค่อยคุยกันแต่ก็ใช้เวลาร่วมกันอยู่ดี เลยคิดไปถึงเวลากินข้าวนอกบ้าน โดยปกติครอบครัวที่ไม่สนิทกันก็จะสั่ง ๆ ใครอยากกินอะไรก็สั่งไป ระหว่างรอก็นั่งเล่นมือถือกันไป เราเลยคิดว่าถ้าเกิดเราทำเมนูพิเศษให้มันเกิดเอ๊ะขึ้นมา และต้องมีอารมณ์ขันไปด้วย พอลองสั่งไปมันอาจจะออกมาเป็นขนมหรือของว่างอะไรบางอย่างที่มาพร้อมคำถาม โดยที่คำตอบต้องได้ครบจากทุกคนบนโต๊ะ เช่น มีห้าคะแนน ถ้าเกิดพ่อตอบ แม่ตอบ ลูกตอบ ก็ถือว่าชนะเกมไป เวลาเล่นก็ให้สุ่มหยิบคำถามขึ้นมา ถ้าตอบครบทุกคนคุณก็จะได้รางวัลอะไรบางอย่างกลับไป เช่น การลดราคา หรือฟรีเมนูไป เป็นความสำเร็จเล็ก ๆ จากการที่พวกเขาได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และเราคิดว่าร้านที่จะไปร่วมควรจะเป็นร้านที่มีสาขา ตัวร้านเองจะได้โปรโมทไปเลย เนี่ยมันเป็นช่วงเวลาของครอบครัว มาลองเมนูต้องห้ามที่ร้านสิ”

เมนูต้องห้าม ที่ไม่ใช่เรื่อง ‘ต้องห้าม’

“อยากทำให้มันน่าสนใจ ง่าย และก็สมมติมันมีประเด็นที่ถามเรื่องที่มันอ่อนไหว เช่นเกี่ยวกับเซ็กส์อะไรแบบนี้ คำถามที่ชวนคุยก็เหมือนแบบว่า พ่อกับแม่ใครเป็นคนจีบกันก่อน ประมาณนี้ เป็นอะไรที่ไม่เคยคุยกันมาก่อน แต่สุดท้ายมัน relate ไปกับเรื่องนี้แหละ การที่เราจะทำให้เมนูต้องห้ามมันกลายมาเป็นการพูดคุยที่มันคุยกันได้จริง ๆ เนี่ย มันต้องทำให้คนในครอบครัวเห็นว่า ที่บอกว่าต้องห้าม ๆ เนี่ย มันก็เป็นแค่เรื่องธรรมดา เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มันต้องคุยกันได้ ซึ่งร้านที่มีเมนูต้องห้ามจะเป็นเหมือนพื้นที่สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มยังไง แต่พอเริ่มต้นได้ลูกก็จะรู้ว่าจริง ๆ พ่อแม่คิดอย่างนี้เนอะ หรือว่าถ้าเกิดเราคุยแบบนี้ เขาอาจจะฟังก็ได้ มันจะได้เป็นตัวเปิดในการพูดคุยสำหรับมื้ออื่น ๆ ที่เขากินที่บ้านก็ได้ อันนี้คือสิ่งที่เราคิด”

.

นอกจาก ‘เมนูต้องห้าม’ ของคุณตุ้ย ยังมีอีก 3 ไอเดียที่มีแนวคิดและที่มาที่ไปของไอเดียที่น่าสนใจเช่นกันนะ เราฝากติดตามกันต่อไปด้วย 😀