Burden of Diseases – BOD ดัชนีภาระโรค ตัวชี้วัดปัญหาสุขภาพคนไทย

ปัญหาสุขภาพใดเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย ที่ยังต้องการนวัตกรรมมาช่วยแก้ไข? Burden of Disease หรือ ข้อมูลดัชนีภาระโรคจะช่วยคุณจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและเลือกโจทย์ที่น่าสนใจและ impactful

ระบบข้อมูลภาระโรค (https://www.hiso.or.th/bodproject/)่ มีระบบ Data Visualization ที่ช่วยจัดลำอันดับปัญหาสุขภาพที่สำคัญจำแนกตามช่วงวัย เพื่อที่เราจะได้เลือกโจทย์ในประเด็นที่สนใจในแต่ละกลุ่มเป้าหมายและกลุ่มอายุ

ทำไมถึงไม่ใช้สาเหตุการเสียชีวิตและจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นตัวชี้วัด ?

ในอดีตที่ผู้คนเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคระบาด การจัดอันดับความสำคัญของปัญหาสุขภาพด้วยตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตเพียงอย่างเดียวอาจเพียงพอ แต่ปัจจุบันผู้คนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคมะเร็ง หรือแม้กระทั่งการเจ็บป่วยทางจิตใจเรื้อรัง เช่น โรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นการเจ็บป่วยที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตที่เหลืออยู่ของคนเป็นระยะเวลานาน คนป่วยมากขึ้น แต่เสียชีวิตน้อยลง มีชีวิตอยู่กับการเจ็บป่วยนานขึ้น เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า การสูญเสียปีสุขภาวะ นั่นเป็นปัจจัยชี้วัดความสำคัญของปัญหาสุขภาพที่ครอบคลุมในภาวะการณ์ปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเดูเฉพาะตัวเลขผู้เสียชีวิต โรคเหล่านี้จะไม่ได้อยู่ในอันดับความสำคัญ  เช่นในรูปที่ 1 โรคซึมเศร้า และการเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์เป็นเป็นปัญหาสำคัญของกลุ่มอายุ 15-29 ปี ถ้าดูเฉพาะสาเหตุการตายก็จะไม่เห็นปัญหาใหญ่สองปัญหานี้

ดัชนีภาระโรคช่วยให้เห็นภาพรวมของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น

ดัชนีภาระโรคเป็นตัวชี้วัดที่พัฒนาโดยองค์การอนามัยโลกในปี 1996 โดยพิจารณาทั้งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและการเจ็บป่วยและพิการร่วมด้วย

ระบบข้อมูลภาระโรค นอกจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากสาเหตุต่าง ๆ จำแนกตามกลุ่มอายุ เราสามารถเลือกดูข้อมูลในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1. ปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (YLL: Years of Life Loss Due to Premature Death)  2. ปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากการเจ็บป่วยและพิการ (YLD: Years Lived with Disability) และ
3. ปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากโรคและการบาดเจ็บ (DALY: Disability Adjusted Life Year)  ซึ่งก็คือการนำ YLL มาบวกรวมกับ YLD

ข้อมูลดัชนีภาระโรคของประเทศไทย – Burden of Disease Thailand

สำหรับประเทศไทยเอง ตั้งแต่ปี 2542 มีการสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูล โดยได้รวบรวมเป็นฐานข้อมูลดัชนีภาระโรคขึ้น จัดทำโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข โดยมีการจัดศึกษาข้อมูลและประมวลผลทุกๆ 5 ปี เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ BOD Thailand ได้ที่ http://bodthai.net/