การสวมหมวกกันน็อคในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์

Global Report on Road Safety 2018 โดยองค์การอนามัยโลก เผยว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตวันละ 60 คน (หรือเฉลี่ยปีละ 22,461 คน หรือ 32.7 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน)สัดส่วนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย เป็นผู้เสียชีวิตจากจักรยานยนต์สูงที่สุด เป็นจำนวน 74.4%

ที่มา: Global Report on Road Safety 2018  ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม ปี 2562 

ประเทศไทยมียอดผู้เสียชีวิตจากการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์สูงที่สุดในโลก โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่น (15-19 ปี) และวัยทำงานตอนต้น (20-24 ปี)  สำหรับภาพรวมการใช้ถนน ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์มีถึง 70%  เนื่องจากในหลายพื้นที่ไม่มีบริการขนส่งสาธารณะ จึงมีความจำเป็นต้องใช้รถส่วนตัว และรถจักรยานยนต์ก็เป็นพาหนะที่ราคาเข้าถึงได้ง่าย

ข้อมูลจากมูลนิธิเมาไม่ขับเผยว่า กว่า 80% ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสียชีวิตเพราะไม่สวมหมวกกันน็อก

ในปี 2561 มีผู้ได้ใบสั่งเกี่ยวกับการขับขี่ กว่า 5 ล้านครั้ง โดยสาเหตุอันดับ 1 คือขับขี่โดยไม่สวมหมวกกันน็อค

เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุพบว่าเด็กเพียง 8% เท่านั้นที่สวมหมวกกันน็อก (พิจารณาเฉพาะผู้โดยสาร) และวัยรุ่นเพียง 22% สวมหมวกกันน็อก (พิจารณารวมทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร)

สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเยาวชนจำนวน 1,151 คนในกลุ่มอายุ 16-ปี พบว่า ร้อยละ 95.7 ทราบว่าการไม่สวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นสาเหตุให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตหากเกิดอุบัติเหตุ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่สวมหมวก โดยเยาวชนร้อยละ 75 ให้เหตุผลถึงการไม่สวมหมวก คือ ไปแค่ใกล้ ๆ ไม่เป็นไร ไม่สะดวกสบาย กลัวผมเสียทรง และไม่คิดว่าจะเกิดอุบัติเหตุ

Wisesight ได้รวบรวมข้อมูล social listening จากสื่อสังคมออนไลน์ระหว่าง ก.ค. 2561 และ มิ.ย. 2562 ที่วัยรุ่นมีการพูดถึงการไม่สวมหมวกกันน็อก พบว่าเหตุผลดังกล่าว คือ เดินทางระยะใกล้ ๆ ขี้เกียจใส่ ใส่แล้วขับขี่ตอนกลางคืนมองทางไม่เห็น ใส่แล้วร้อน ใส่แล้วผมเสียทรง/ผมเปียก และโดนขโมยหมวกกันน็อก สำหรับในกลุ่มเด็ก ที่ส่วนมากเป็นผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ที่ผู้ปกครองเป็นผู้ขับขี่ เหตุผลอันดับหนึ่งคือ หมวกกันน็อกสำหรับเด็กหาซื้อยาก โดยมีการพูดถึง 79%

โจทย์ชวนคิด

เราจะส่งเสริมพฤติกรรมการสวมหมวกกันน็อคขณะขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างไร

ที่มา:

  • Thaihealth Watch ปี 2563
  • รายงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ ความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 14 (ปี 2562)
  • รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคมปี 2562