โจทย์นวัตกรรม – ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่

วัยรุ่นไทยกว่าร้อยละ 91 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในระดับปานกลาง - ไม่มีความรู้เลย
มากถึง 38.5 รับรู้ความเชื่อที่ผิด เช่น บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย-ไร้อันตราย

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรไทย ในปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่ออายุ 18-22 ปี และสูบจนเป็นปกตินิสัยเมื่อมีอายุ 19-23 ปี เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากที่มีการเริ่มสูบครั้งแรกหากมีการสูบอย่างต่อเนื่องไปประมาณ 1 ปี ทำให้มีการเปลี่ยนพฤติกรรมสูบบุหรี่จนติดเป็นนิสัย  

การสำรวจทัศนคติของเด็กและเยาวชนไทยที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้า โดยสถาบันยุวทัศน์ฯ พบว่า 12.3% ของวัยรุ่นไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยกว่า 2 ใน 3 สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบแรกของชีวิต เนื่องจากเชื่อวาทกรรมความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เช่น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย และได้รับข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์เฉลี่ย 3 ครั้ง/สัปดาห์ 

ข้อมูลสำรวจจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบพบว่า กลุ่มวัยเรียนมัธยมปลายมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด (46.4%) เมื่อเทียบกับทุกกลุ่มวัย โดยเริ่มสูบเพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีรสและกลิ่นที่หอมและคิดว่าดีกว่าบุหรี่มวน  และส่วนใหญ่หาซื้อได้ง่ายจากช่องทางออนไลน์ 

จากผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรไทย ในปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 23.7% มีการสูบบุหรี่ในบ้าน และเมื่อพิจารณาความบ่อยครั้งที่สูบในบ้าน 67.5% มีการสูบบุหรี่ในบ้านทุกวัน

ผลสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมการใช้สุรา ยาสูบ สารเสพติด และพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพในนักเรียนมัธยมศึกษาของประเทศไทย ปี 2563 นักเรียนชาย 6% และนักเรียนหญิง 2% เคยสูบบุหรี่ โดยกลุ่มนี้มีนักเรียนชาย 40% และนักเรียนหญิง 34%

สิ่งเร้าในชีวิตประจำวันของนักเรียน พบว่า ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน 23.8% ได้รับควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะ 25.3% พบเห็นสื่อโฆษณาบุหรี่ทางออนไลน์ 85.8% พบเห็นการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ 73.3%

 

" ข้อมูลอันเป็นเท็จบนสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประโยชน์ของบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น"

โจทย์สำคัญ

1. การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า

2. การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ และการป้องกันการรับควันบุหรี่มือสอง

มาร่วมออกแบบและพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพกับ สสส.
ในโครงการ  Health Promotion Innovation - PM Award 2022