โจทย์นวัตกรรม – การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

มลพิษ 3 ประเภทที่ส่งผลต่อสุขภาพคนไทยอย่างรุนแรง ได้แก่ มลพิษทางอากาศ มลพิษจากขยะ และมลพิษจากอุตสาหกรรม

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

แหล่งกำเนิดหลักของการเกิดฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน

    • กทม. และปริมณฑล: การคมนาคมขนส่ง การเผาชีวมวลในที่โล่ง และฝุ่นทุติยภูมิ
    • ภาคกลาง: การเผาชีวมวลในที่โล่ง
    • ภาคเหนือ: ไฟป่าและการเผาชีวมวลในที่โล่ง
    • ภาคตะวันออก: การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม
    • ภาคอีสาน: ไฟป่าและการเผาชีวมวลในที่โล่ง
    • ภาคใต้: ไฟป่าพรุในอินโดนีเซียและประเทศไทย โดยเฉพาะป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช

จากรายงานข้อมูลตำบลโดยการสำรวจปี 2564 พบว่า 68.7% ของครัวเรือนไม่มีการจัดการขยะ และ 79.19% ไม่มีการจัดการมลพิษ

ประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน (ร้อยละ 25) ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน (ร้อยละ 75) ซึ่งพลาสติกส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ โดยส่วนใหญ่จะถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

มาตรการกำหนดให้ปฏิบัติงาน Work From Home การสั่งอาหารผ่านระบบบริการส่งอาหาร (Food Delivery) ส่งผลให้ปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single use plastic) เพิ่มขึ้น เช่น กล่องโฟม กล่องพลาสติกใส่อาหาร ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อน-เย็น ถุงเครื่องปรุง ช้อน ส้อม มีดพลาสติก แก้วพลาสติก จากห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และ Platform ของผู้ให้บริการส่งอาหาร 

ขยะมูลฝอยติดเชื้อ ปี 2564 มีปริมาณ 90,009.23 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 87 โดยเกิดจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดกรมวิชาการภายใต้กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงอื่น โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน สถานพยาบาลสัตว์ ห้องปฏิบัติการเชื้ออันตรายรวมไปถึงมูลฝอยติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากโรงพยาบาลสนาม สถานกักกันที่ราชการกำหนด ศูนย์แยกกักในชุมชน (CI) การแยกกักตัวที่บ้าน (HI) และสถานที่อื่นๆ โดยได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 81,774.67  ตัน (ร้อยละ 90.85) 

ขยะอาหารเกิดจากอาหารที่เหลือจากการบริโภคทั้งในครัวเรือน อาหารที่เหลือจากการจำหน่ายในร้านค้าปลีก อาหารบุฟเฟ่ต์และอาหารที่ใช้เพื่อปรุงแต่งจานในร้านอาหารหรือโรงแรม  ขยะที่สร้างขึ้นในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม จากกระบวนการผลิตที่มีวัตถุดิบเหลือใช้ และการจัดเก็บวัตถุดิบที่ไม่ดีทำให้เกิดการเน่าเสีย สร้างมลพิษที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสร้างแก๊สเรือนกระจก อย่างเช่น แก๊สมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ในประเทศไทยมีขยะอาหารคิดเป็น 64% ของขยะทั้งหมด ซึ่งขยะส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้น้อย เนื่องจากการแยกขยะที่ไม่ถูกต้อง การจัดการขยะที่ใช้การฝังกลบรวม และไม่มีระบบจัดการที่ถูกสุขอนามัย

" ประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน
68.7% ของครัวเรือนไม่มีการจัดการขยะ

โจทย์สำคัญ

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติก การประหยัดพลังงาน การเลือกใช้สินค้า/บริการ นำขยะกลับมาใช้ใหม่

2. การใช้พลังงานทางเลือกหมุนเวียน

3. การมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองคุณภาพ

4. การสร้างจิตสำนักตั้งแต่ขั้นตอนการดำเนินการตั้งแต่การคัดแยก รวบรวม บรรจุ จัดเก็บที่ต้นทาง ตลอดจนการขนส่ง

5. การลดปริมาณขยะอาหาร เช่น การวางแผนก่อนซื้อ การลดความยาวของห่วงโซ่การผลิต

6. การจัดการขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น การป้องกันพลาสติกไม่ให้เข้าไปในขยะอินทรีย์ การรีไซเคิล

7. การจัดการขยะติดเชื้อ เช่น การคัดแยกขยะติดเชื้อก่อนทิ้ง สร้างกลไกในการจัดการเชิงพื้นที่ บุคลากร เจ้าหน้าที่ และประชาชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดปริมาณขยะติดเชื้อ

มาร่วมออกแบบและพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพกับ สสส.
ในโครงการ  Health Promotion Innovation - PM Award 2022